วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ข้อมูลเพิ่มเติม


แนวทางการพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพ

          ครูมืออาชีพ ตามความหมายของกรมวิชาการ ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือครูที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเป็นครู คือ มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการให้การศึกษาอบรมศิษย์ในทุก ๆ ด้าน มีความประพฤติดี วางตัวดี เอาใจใส่ดูแลศิษย์ดี มีวิญญาณของความเป็นครู และปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณ ซึ่งจากความหมายนี้ เราจะเห็นได้ว่า ระดับของครูมืออาชีพนั้น แตกต่างจากระดับคนที่ประกอบอาชีพครูอยู่พอสมควร ครูทุกคนถึงแม้จะมีความรู้ทางวิชาชีพทัดเทียมกัน เพราะส่วนใหญ่ต่างจบจากสถาบันผลิตครูเหมือนๆกัน หรือจะแตกต่างกันบ้างก็ตรงชื่อของมหาวิทยาลัยที่เรียนจบ แต่เมื่อผ่านการคัดเลือกเข้ามาบรรจุครูในสถานศึกษาของรัฐหรือได้ทำงานในสถานศึกษาของเอกชน ครูทุกคนก็มีจุดเริ่มต้นในการทำงานที่แทบจะไม่ต่างกัน แต่อะไรเล่า? ที่เป็นตัววัดว่า ใครคือผู้ประกอบอาชีพครูธรรมดาๆ และใครควรจะถูกเรียกว่าเป็นครูมืออาชีพ
          สิ่งที่ทำให้ครูมืออาชีพ แตกต่างจากผู้ประกอบอาชีพครูโดยทั่วไปนั้น คือการสามารถปฏิบัติตนให้ดำรงไว้ซึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมความเป็นครูที่ดี 4 ประการ ซึ่งปรากฏในหนังสือคู่มือเส้นทางครูมืออาชีพสำหรับครูผู้ช่วย ของสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันได้แก่
1. อุดมการณ์ของครู
           สำหรับครูมืออาชีพ จะเน้นในเรื่องในของการดำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์ความเป็นครูมากกว่าจะคำนึงถึงอามิสสินจ้าง โดยพร้อมแสดงความเมตตากรุณาต่อศิษย์ เสียสละและมุงมั่นในการทำงานเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพตามความสามารถที่ตัวเองพึงกระทำได้
 2. คุณลักษณะของการเป็นครูที่ดี
           ครูมืออาชีพส่วนใหญ่จะมีลักษณะของการเป็นครูที่ดี ซึ่งการเป็นครูที่ดีนั้น ถ้ามองตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพแล้วจะสามารถสรุปได้คร่าวดังนี้ คือ
                  - ต้องเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องของนโยบายการศึกษา เข้าใจในหลักสูตรและเนื้อหาวิชาที่สอน มีทักษะในการสอน วัดและประเมินผลผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง
                  - ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ สามารถจับประเด็นและวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ได้
                  - สามารถสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอน ทั้งในเรื่องของการดูแลผู้เรียน การจัดการสื่อการเรียนการสอน และการช่วยเหลืองานสนับสนุนการจัดการในโรงเรียนต่าง ๆ เช่น งานพัสดุ หรืองานธุรการ เป็นต้น
                  - มีคุณธรรมจริยธรรมตามหลักของจรรยาบรรณวิชาชีพ
                  - รู้จักพัฒนาตนเองและส่งเสริมชุมชนอยู่เสมอ
           ซึ่งจากคุณลักษณะการเป็นครูที่ดี โดยสังคราะห์จากเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ จะเห็นว่าครูมืออาชีพนั้นจะต้องเป็นปฏิบัติดีทั้งต่อตัวเอง ผู้เรียน โรงเรียน รวมไปถึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงด้วย
3. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
           ปัจจุบันนี้ อาชีพครูกลายเป็นอาชีพหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในเรื่องของหนี้สิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าครูจะไม่ใช่อาชีพที่ทำรายได้ในระดับที่สูงมากนัก แต่รายได้ของครูก็เพียงพอต่อการใช้สอย ถ้ามีความพอเพียงและสามารถบริหารจัดการได้ดี การมีหนี้สิน ถ้าอยู่ในระดับที่ดูแลจัดการได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นลักษณะของการมีหนี้สินติดพันรุงรังจนกระทบต่อการทำงาน ทำให้ครูไม่อาจทำงานได้เต็มที่ กังวลกับเรื่องหนี้สินตลอดเวลา ซึ่งสำหรับครูมืออาชีพนั้น จะเป็นผู้ที่หยิบยกแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ในการดำเนินชีวิตคือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง ทำให้สามารถใช้ชีวิตในวิชาชีพครูได้เป็นแบบอย่างที่ดีและมีความสุข
4. คุณธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติงาน
           การเป็นครูมืออาชีพ จะต้องยึดถือคุณธรรมในการทำงาน ซึ่งคุณธรรมในการประกอบวิชาชีพครูนั้น ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ จะประกอบด้วย (1) ความมีเมตตากรุณาต่อศิษย์  (2) มีความยุติธรรม (3) มีความรับผิดชอบ (4) มีวินัย (5) ขยันขันแข็ง (6) อดทน (7) ประหยัด (8) รักและศรัทธาในวิชาชีพครู (9) มีความเป็นประชาธิปไตยในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิต
          สำหรับการแนวทางในการฝึกฝน เพื่อก้าวสู่การเป็นครูมืออาชีพนั้น จากบทความเรื่อง คมคิด 12 ประการ สู่ความเป็นครู สควค. มืออาชีพ ของนายเดชา การรัมย์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านม่วงหนองตาด จังหวัดสุรินทร์ (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น)  ได้เขียนไว้ในวารสาร สควค. ปีที่ 2 ฉบับที่ 7 เมษายน-มิถุนายน 2551 นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์และสามารถนำมาเป็นแนวทางในการฝึกฝนและพัฒนาตนเองเพื่อก้าวสู่ความเป็นครูมืออาชีพได้ จึงนำมาเรียบเรียงใหม่ให้เหมาะสมตามความคิดเห็นของข้าพเจ้า ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นแนวทาง ดังนี้
               1. ผู้สอนควรปฏิบัติตนให้มีความเหมาะสมตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ  เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของของบุคคลทั่วไป
               2. ควรศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาของชาติ ตามนโยบายต่าง ๆ ของทางกระทรวงศึกษาธิการ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม
               3.  ต้องศึกษากฎหมายและหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เพื่อให้สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม
               4.  ต้องทำความรู้จักผู้เรียน เพื่อให้ทราบถึงอุปนิสัยใจคอ จุดเด่น และจุดที่ต้องพัฒนาเรียน สามารถ วิเคราะผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้
               5. จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นทักษะการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้เด็กเกิดความเข้าใจและสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้แนะแนวทางและให้คำปรึกษามากกว่าเป็นผู้ชี้นำในการเรียนการสอน
               6.  ควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีการบูรณาการแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในส่วนของเนื้อหาที่สัมพันธ์กัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดเชื่อมโยงและสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง
               7. เลือกใช้วิธีการวัดผลการเรียนรู้อย่างหลากหลายตามสภาพที่เหมาะสมของผู้เรียน เพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ที่ถูกต้องและแม่นยำ
               8. เลือกจัดกิจกรรมหรือโครงการที่เน้นให้ผู้เรียนให้เกิดความรู้ ทักษะ หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
               9. ควรมีการอบรมพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง และใช้การวิจัยในชั้นเรียนเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของผู้เรียน
               10. หมั่นศึกษาและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ควรร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมหรือกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูทั้งในและนอกโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
               11. ฝึกฝนทักษะในการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้
               12. พัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีกับบุคคลอื่น สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



ลักษณะของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี ควรมีดังนี้
1. มีความละเอียด ชัดเจน มีหัวข้อและส่วนประกอบต่าง ๆ ครอบคลุมตามหลักการของการสอน
         1.1 สอนเกี่ยวกับอะไร (หน่วยการเรียนรู้ หัวเรื่อง ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ)
         1.2 เพื่อจุดประสงค์อะไร (จุดประสงค์การเรียนรู้ ซึ่งควรเขียนเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม)
         1.3 สาระอะไร (เนื้อหา / โครงร่างเนื้อหา)
         1.4 ใช้วิธีการใดในการสอน (กิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ)
         1.5 ใช้เครื่องมืออะไรในการสอน (วัสดุอุปกรณ์ สื่อและแหล่งการเรียนรู้)
         1.6 เราจะทราบได้อย่างไรว่าแผนการเรียนรู้ที่เราออกแบบจะประสบความสำเร็จ (การวัดและประเมินผล)
2. แผนการจัดการเรียนรู้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
3. ส่วนประกอบต่าง ๆ ของแผนการจัดการเรียนรู้มีความสอดคล้องสัมพันธ์เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เช่น
         3.1 จุดประสงค์การเรียนรู้ครอบคลุมสาระ / เนื้อหา และเป็นจุดที่พัฒนาผู้เรียนในด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการและเจตคติ
         3.2 กิจกรรมการเรียนรู้ ควรสอดคล้องกับจุดประสงค์และเนื้อหา / สาระ
         3.3 วัสดุอุปกรณ์ สื่อ และแหล่งการเรียนรู้ ควรสอดคล้องสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้
         3.4 การวัดผลและประเมินผล ควรสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีต้องเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนี้
          1. มีการวิเคราะห์หลักสูตร จัดทำตารางวิเคราะห์คำอธิบายรายวิชา หรือวิเคราะห์สาระการเรียนรู้ จัดทำหน่วยการเรียนรู้ และจัดทำกำหนดการสอนหรือโครงการสอน
          2. มีการวิเคราะห์ผู้เรียน โดยการจัดกลุ่มผู้เรียนตามความรู้ ความสามารถ ความสนใจ และความถนัด แล้วนำไปเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ตามศักยภาพของผู้เรียนเพื่อเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          3. มีการกำหนดเนื้อหาสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ศักยภาพของผู้เรียน และความต้องการของท้องถิ่น รวมทั้งการบูรณาการระหว่างวิชา
          4. มีการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน มีการบูรณาการ เน้นการคิด (ทักษะการคิด ลักษณะการคิด และกระบวนการคิด) การฝึกทักษะ การปฏิบัติจริง และการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
          5. มีการกำหนดสื่อ /นวัตกรรม/แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง กิจกรรมการเรียนรู้ วัยและความสามารถของผู้เรียน และให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือก จัดหาและจัดทำสื่อ/แหล่งการเรียนรู้
          6. มีการกำหนดการวัดผลและประเมินผล สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและกิจกรรมการเรียนรู้ มีการวัดผลตามสภาพจริง ให้ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ
          7. มีองค์ประกอบสำคัญครบถ้วน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เน้นคุณธรรม จริยธรรม และมีการบูรณาการตามความเหมาะสม
          8. มีความสมบูรณ์ถูกต้อง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาด้านความรู้ ทักษะและเจตคติ


ประโยชน์ของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี
         1. ทำให้เกิดการวางแผนวิธีสอนวิธีเรียนที่มีความหมายยิ่งขึ้น เพราะเป็นการจัดทำอย่างมีหลักการที่ถูกต้อง
         2. ช่วยให้ครูมีคู่มือการสอนที่ทำด้วยตนเอง ทำให้เกิดความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน ทำให้สอนได้ครบถ้วนตรงตามหลักสูตร และสอนได้ทันเวลา
         3. เป็นผลงานวิชาการที่สามารถเผยแพร่เป็นตัวอย่างได้
         4. ช่วยให้ความสะดวกแก่ครูผู้มาสอนแทนในกรณีที่ผู้สอนไม่สามารถเข้าสอนได้

          การมีแผนการสอนที่ดีก็เหมือนการวางรากฐานการศึกษาให้คนในประเทศ คุณครูลองเอาแนวคิดนี้ไปพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียน และยิ่งจะเป็นการที่ทำให้ครูได้เตรียมตัวล่วงหน้าก่อนทำการสอนและจะได้เห็นรูปแบบการสอนนักเรียนล่วงหน้าค่ะ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



การบริหารจัดการชั้นเรียน 

        เป็นวิธีการดำเนินการให้ชั้นเรียนได้อยู่ในสภาพความพร้อมที่จะดำเนินการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง เนื่องด้วยชั้นเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้พื้นฐานในรายวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งประกอบด้วยผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆอย่างชัดเจน หรืออาจเรียกว่า “ความแตกต่างระหว่างบุคคล” (Individual Difference) ชั้นเรียนที่มีการบริหารจัดการดีเป็นความสามารถของผู้สอนที่ส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนการสอน และหมายความรวมถึง ผู้เรียนมีความสุขในขณะที่อยู่ในชั้นเรียน ความสุขของผู้เรียนเป็นสิ่งที่สุดยอดปรารถนาของผู้สอน และผู้รับผิดชอบทางการศึกษาต้องพยายามจัดให้มีขึ้นโดยทั่วกัน การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นองค์รวมของการบูรณาการความรู้ ความสามารถของครูผู้สอน พร้อมทั้งก่อให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้มาโรงเรียนทุกวันอย่างมีความสุข (สันติ บุญภิรมย์. 2557 : 113)

ความหมายของการบริหารจัดการชั้นเรียน
          อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง (2545 : 10) ได้ให้ความหมายว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง การปฏิบัติและกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อจัดระเบียบ (Order) ในห้องเรียน หากต้องการจัดการห้องเรียนจำเป็นต้องประยุกต์หลักการหลายข้อ ได้แก่
               1. การเตรียมจัดการสอน เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับปีการศึกษา จัดระเบียบห้องเรียน เลือกและสอนกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติ
                2. การวางแผนการจัดการ เป็นการวางแผนการเรียนการสอนโดยมีหลักการจัดการอยู่ในใจตลอดเวลา วางแผนเพิ่มแรงจู.ใจ วางแผนจัดการกับนักเรียนที่แตกต่างกัน และวางแผนร่วมมือกับผู้ปกครอง
                3. การดำเนินการในชั้นเรียน เป็นการสร้างความร่วมมือ และความรับผิดชอบ กระตุ้นและเสริมแรงพฤติกรรมที่เหมาะสม และดำเนินการเรียนการสอนตามแผน
          สุรางค์ โค้วตระกูล (2556 : 470) ได้ให้ความหมายว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง การสร้างและการรักษาสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน หรือหมายถึงกิจกรรมทุกอย่างที่ครูทำเพื่อจะช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพและนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้สำหรับบทเรียนหนึ่ง ๆนอกจากนี้การจัดการห้องเรียนยังรวมถึงการที่ครูสามารถที่จะใช้เวลาที่กำหนดไว้ในตารางสอนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และการจัดที่นั่งของนักเรียน และอุปกรณ์ที่ครูจะใช้ในการสอนให้อยู่ในสภาพที่จะช่วยครูได้ในเวลาสอน
          สันติ บุญภิรมย์ (2557 : 114) ได้ให้ความหมายว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง กระบวนการดำเนินการในชั้นเรียน ประกอบด้วย 1) การเตรียมการ 2)การวางแผนจัดการ 3) การดำเนินการในชั้นเรียน สำหรับในแต่ละขั้นมีรายละเอียดประกอบ ดังนี้
               1. การเตรียมการ หมายถึง การจัดเตรียมการเรียนไว้ให้พร้อมที่จะมีการเรียนการสอนในปีการศึกษานั้น ๆ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านศักยภาพ
               2. การวางแผนการเรียนการสอน หมายถึง การวางแผนการเรียนการสอนในชั้นเรียนและการวางแผนการเลือกใช้กิจกรรมต่าง ๆ มาใช้ประกอบการเรียนการสอนที่คาดว่าน่าจะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของรายวิชานั้น ๆ
               3. การดำเนินการในชั้นเรียน หมายถึง การดำเนินการเรียนการสอนให้เป็นไปตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้มีวัตถุปะสงค์เพื่อผู้เรียนได้มีความรู้ ความสามรถตามสมรรถนะของรายวิชาพร้อมทั้งมีปฏิกิริยาร่วมระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง และก่อให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่ายในระดับที่ยอมรับได้เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในชั้นเรียน
          ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง การสร้างและการรักษาสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน รวมทั้งวิธีการสร้างระเบียบวินัยในห้องเรียน เพื่อรักษาสภาพบรรยากาศในห้องเรียน ช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น นักเรียนเกิดความร่วมมือในกิจกรรมการเรียนรู้

ความสำคัญของการบริหารจัดการชั้นเรียน
          ความสำคัญของการบริหารจัดการชั้นเรียน (Importance of Classroom Management) ที่มีต่อผู้เรียน ดังต่อไปนี้
                1. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความอบอุ่นในขณะอยู่ในชั้นเรียน และมีความสุขในขณะที่มีการเรียนการสอน
                2. ช่วยให้ส่งเสริมสนับสนุนบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในเวลาเรียนปกติและนอกเวลาเรียน
                3. ช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันตามธรรมชาติของรายวิชานั้น ๆ
                4. ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตระหนักในเรื่องของวินัยในชั้นเรียน
                5. ช่วยป้องกันสิ่งรบกวนที่เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีต่อการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมต่าง ๆของผู้เรียน
          ดังนั้น การบริหารจัดการชั้นเรียน จึงเป็นการช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนและการสอนของผู้สอนได้เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญที่สุดในขณะนั้นให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของการศึกษาในระดับสูงสุด และผู้เรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพได้เต็มตามอัตภาพพร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการสอนของผู้สอนให้เต็มศักยภาพทั้งสองฝ่าย (สันติ บุญภิรมย์. 2557 : 115)

องค์ประกอบของการบริหารจัดการชั้นเรียน
          สันติ บุญภิรมย์ (2557 : 115-116) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดการชั้นเรียนไว้ดังนี้ องค์ประกอบของการจัดการชั้นเรียน (Element of Classroom Management) เพื่อให้ชั้นเรียนได้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน ดังนั้น จึงมีการจัดองค์ประกอบของการจัดการชั้นเรียนดังต่อไปนี้
                1. องค์ประกอบด้านกายภาพ หมายถึง สิ่งอำนวยความสะดวกภายในชั้นเรียนจัดให้มีไว้อย่างเพียงพอ พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ซึ่งประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ทั้งของผู้เรียนและผู้สอน กระดานดำ บอร์ดสำหรับจัดนิทรรศการ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การจัดเตรียมการในด้านวัสดุอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นไว้อย่างครบถ้วน และมีคุณภาพดีพร้อมใช้งานตลอดเวลา
                2. องค์ประกอบด้านสังคม หมายถึง การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนในรูปแบบต่าง ๆ ตามกิจกรรมประกอบการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ผู้สอนกับผู้เรียนได้ช่วยกันทำงาน ผู้เรียนทำงานกันเป็นกลุ่ม ผู้สอนสาธิตให้ผู้เรียนได้ศึกษาสังเกต
                3. องค์ประกอบด้านการศึกษา หมายถึง การจัดลำดับเนื้อหาสาระ ความรู้ให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน พร้อมทั้งให้ผู้เรียนมีกาสวางแผนการเรียนร่วมกับผู้สอน และให้ผู้เรียนได้ตระหนักในคุณค่าของความรู้ ความสามารถที่ได้รับจากผู้สอน หรือการศึกษาค้นคว้าตามที่ได้รับมอบหมายให้เต็มตามอัตภาพ ทั้งนี้ เนื่องด้วยการจัดการศึกษาในส่วนของการจัดการชั้นเรียนเป็นเป้าหมายสูงสุดในการเรียนรู้ คือ ให้ผู้เรียนได้รับความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ให้เป็นไปตามอัตภาพและผู้เรียนสามารถพัฒนาได้โดยให้ความสำคัญไปที่การบริหารจัดการชั้นเรียน เนื่องจากชั้นเรียนเป็นสถานที่อยู่ของผู้เรียนตลอดระยะเวลาของการมาเรียนที่โรงเรียน สำหรับองค์ประกอบด้านกายภาพและด้านสังคม เป็นส่วนส่งเสริม สนับสนุนให้องค์ประกอบด้านการศึกษาของผู้เรียนได้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน

แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการชั้นเรียน
          การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นการจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้สะอาดเรียบร้อย น่าอยู่ น่าเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และการเรียนการสอนของผู้สอน เพื่อส่งเสริมวินัยในตนองและวินัยในสังคมให้ผู้เรียน ให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการทุกด้าน เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งของผู้เรียนและผู้สอน นอกจากนั้น พวงรัตน์ เกษรแพทย์ (อ้างอิงจาก ศิริบูรณ์ สายโกสุม 2548 : 223-240) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการบริหารจัดการชั้นเรียน เพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อมในการเรียนให้เป็นไปในทางบวกและเสริมสร้างในการบริหารจัดการชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ
                1. เพื่อให้มีเวลาในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น คือการขยายเวลาแต่ละเสี้ยววินาทีให้มีสำหรับการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเข้าสายและออกก่อนเวลา ขจัดการขัดจังหวะการรบกวนขณะที่มีครูสอน ครูควรจัดการสอนให้มีลำดับต่อเนื่องกัน ให้เด็กทำกิจกรรมที่มีความหมาย ให้เด็กมีความตื่นตัวทำกิจกรรมที่เหมาะสมและคุ้มค่า
                2. วิธีการในการเรียนรู้ การจะให้กิจกรรมทุกอย่างดำเนินไปโดยราบรื่น ครูต้องแน่ใจว่าเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมเฉพาะอย่างไร ครูมีเกณฑ์และความคาดหวังอย่างไร ที่เป็นที่เข้าใจดี การให้สัญญาณเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วม มีความชัดเจนสม่ำเสมอ หรือไม่ครูควรวางกฎเกณฑ์ไว้ชัดตั้งแต่ต้นปีการศึกษา
                3. การบริหารเพื่อให้นักเรียนสามารถบริหารตนเองได้ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้ กระตุ้นให้เด็กมีการจัดการกับตัวเอง ครูจะต้องใช้เวลาเป็นพิเศษเพื่อสอนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เป็นการสอนให้เกิดจิตสำนึกและความรับผิดชอบ

หลักการบริหารจัดการชั้นเรียน
          พวงรัตน์ เกษรแพทย์ (อ้างอิงจาก สุพิน บุญชูวงศ์ 2544 : 128-129) ได้สรุปหลักการจัดการชั้นเรียนไว้ดังนี้
                1. ชั้นเรียนควรมีสีสันที่น่าดูสบายตา มีอากาศถ่ายเทได้ดี แสงสว่างเพียงพอ ไม่มีเสียงรบกวน อากาศไม่เป็นพิษ ไม่ร้อนจนเกินไป มีต้นไม้ ดอกไม้ประดับ และมีขนาดกว้างขวางอย่างเพียงพอ
                2. สะอาดถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่มีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมคล้ายคลึงกับชีวิตในบ้าน ในครอบครัวของนักเรียน
                3. สิ่งที่อยู่ในชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ มุมหนังสือ ป้ายนิเทศ สื่อการสอน ประเภทต่าง ๆสามารถเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ได้ สามารถจัดหรือดัดแปลงชั้นเรียนให้มีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการสอนและกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ได้
                4. นักเรียนเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างมีความสุข มีอิสระ เสรีภาพในเรื่องการเรียนรู้และในขณะเดียวกันก็มีวินัยในการดูแลตัวเองและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนและครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี ทั้งส่งเสริมบรรยากาศและมีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง
                5. จัดมุมหนังสือ มุมประสบการณ์ สื่อการสอนบางประเภทให้เพียงพอ และมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
                6. ชั้นเรียนที่ดีไม่จำกัดเฉพาะในห้องสี่เหลี่ยมที่กำหนดให้เท่านั้น แต่ยังมีชั้นเรียนแบบเปิด แบบธรรมชาติเป็นการศึกษานอกชั้นเรียนที่นักเรียนมีความต้องการและสนใจเช่นเดียวกัน
                7. การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เนื้อหาสาระ กระบวนการเรียนรู้ที่ต้องกระทำอยู่เสมอ ตามเหตุการณ์ข่าวคราวความเคลื่อนไหว สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน
                8. ควรมีการจัดการเตรียมพร้อมต่อการสอนแต่ละครั้ง เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญ ๆบางประการ
                9. ครูต้องระมัดระวังและควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตนให้ดี ไม่ก้าวร้าวแสดงอาการไม่พอใจให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน

การจัดการชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้
บรรยากาศที่พึงปรารถนาในชั้นเรียน
          ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต่างปรารถนาให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น และผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ความปรารถนานี้เป็นจริง บรรยากาศในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสอน จัดแบ่งได้ 6 ลักษณะ สรุปได้ ดังนี้
               1. บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge) เป็นบรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียน เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน นักเรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ
               2. บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล บรรยากาศเช่นนี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด
               3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
               4. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน
               5. บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
               6. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่า การพูดถึงความล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึง แต่สิ่งที่ล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น บรรยากาศทั้ง 6 ลักษณะนี้ มีผลต่อความสำเร็จของผู้สอนและความสำเร็จของผู้เรียน ผู้สอนควรสร้างให้เกิดในชั้นเรียน

ลักษณะของชั้นเรียนที่ดี
          เพื่อให้การจัดชั้นเรียนที่ถูกต้องตามหลักการ ผู้สอนควรได้ทราบถึงลักษณะของชั้นเรียนที่ดีสรุปได้ดังนี้
               1. ชั้นเรียนที่ดีควรมีสีสันที่น่าดู สบายตา อากาศถ่ายเทได้ดี ถูกสุขลักษณะ
               2. จัดโต๊ะเก้าอี้และสิ่งที่ที่อยู่ในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน และกิจกรรมประเภทต่าง ๆ
               3. ให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข มีอิสระเสรีภาพ และมีวินัยในการดูแลตนเอง
               4.ใช้ประโยชน์ชั้นเรียนให้คุ้มค่า ครูอาจดัดแปลงให้เป็นห้องประชุม ห้องฉายภาพยนตร์และอื่น  ๆ
               5. จัดเตรียมชั้นเรียนให้มีความพร้อมต่อการสอนในแต่ละครั้ง เช่น การทำงานกลุ่ม การสาธิตการแสดงบทบาทสมมุติ
               6. สร้างบรรยากาศให้อบอุ่น ให้ความเป็นกันเองกับผู้เรียน

รูปแบบการจัดชั้นเรียน
          การจัดชั้นเรียนจัดได้หลายรูปแบบ โดยจัดให้เหมาะสมกับบทเรียน กิจกรรมการเรียนการสอน จำนวนนักเรียน สภาพแวดล้อมในชั้นเรียน ขนาดของห้องเรียน เป็นต้น ครูควรได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจัดโต๊ะ เก้าอี้ มุมวิชาการ และมุมต่าง  ๆ ในห้องเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศของห้องเรียนให้น่าสนใจไม่ซ้ำซากจำเจ ไม่น่าเบื่อหน่าย นักเรียนจะเกิดความกระตือรือร้นและกระฉับกระเฉงในการเรียนดีขึ้น การจัดชั้นเรียนถ้าแบ่งตามวิธีการสอนจะได้ 2 แบบ คือ แบบธรรมดาและแบบนวัตกรรม
          1. ชั้นเรียนแบบธรรมดา ชั้นเรียนแบบธรรมดาเป็นชั้นเรียนที่มีครูเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้นำการเรียนรู้ โดยมีผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้จากครู การจัดชั้นเรียนแบบนี้จะมีโต๊ะครูอยู่หน้าชั้นเรียน และมีโต๊ะเรียนวางเรียงกันเป็นแถว โดยหันหน้าเข้าหาครูแสดงดังรูป
               1.1 ลักษณะการจัดชั้นเรียน การจัดชั้นเรียนแบบธรรมดานี้ โต๊ะเรียนของนักเรียน อาจเป็นโต๊ะเดี่ยวหรือโต๊ะคู่ก็ได้ ผนังห้องเรียนอาจจะมีกระดานป้ายนิเทศ หรือสื่อการสอนเช่น แผนภูมิ รูปภาพ แผนที่ติดไว้ ซึ่งสื่อการสอนเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนบ่อยนัก การตกแต่งผนังห้องเรียนจะแตกต่างกันออกไปตามแต่สถานที่ตั้งของโรงเรียน โรงเรียนที่อยู่ในตัวเมืองอาจจะมีการตกแต่ง มากกว่าโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลออกไปตมชนบท เพราะหาสื่อการสอนได้ยากกว่า บางห้องเรียนอาจจะมีมุมความสนใจ แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน
               1.2 บทบาทของครูและนักเรียน บทบาทของครูและนักเรียนในชั้นเรียนแบบธรรมดานี้ ครูจะเป็นผู้รอบรู้ในด้านต่าง ๆ ใช้วิธีการสอนแบบป้อนความรู้ให้แก่นักเรียนโดยการบรรยาย และอธิบายให้นักเรียนฝังอยู่ตลอดเวลา ครูจะเป็นผู้แสดงกิจกรรมต่าง ๆ เอง แม้กระทั่งการทดลองอย่างง่าย ๆ ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ยิบจับ หรือแตะต้องสื่อการสอนที่ครูนำมาแสดง นักเรียนจึงต้องฟังครู มีมีโอกาสได้พูด หรือทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อค้นหาคำตอบใด ๆ สื่อการสอนที่ใช้ส่วนมาก ได้แก่ ชอล์ก กระดานดำ และแบบเรียน
          2. ชั้นเรียนแบบนวัตกรรม ชั้นเรียนแบบนวัตกรรม เป็นชั้นเรียนที่เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิควิธีการแบบสอนใหม่ ๆ เช่น การเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบโฟร์แมท แบบสตอรี่ไลน์ แบบโครงงาน เป็นต้น ซึ่งทำให้นักเรียนจะมีอิสระในการเรียน อาจเรียนเป็นกลุ่ม หรือเป็นรายบุคคล โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา การจัดชั้นเรียนจึงมีรูปแบบการจัดโต๊ะเก้าอี้ในลักษณะต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเรียงแถวหันหน้าเข้าหาครู เช่น จัดเป็นรูปตัวที ตัวยู วงกลม หรือจัดเป็นกลุ่ม
               2.1 ลักษณะการจัดชั้นเรียน การจัดชั้นเรียนแบบนวัตกรรมนี้ โต๊ะครูไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าชั้น อาจเคลื่อนย้ายไปตามมุมต่าง ๆ การจัดโต๊ะนักเรียนจะเปลี่ยนรูปแบบไปตามลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู ส่วนใหญ่นิยมจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน มีการจัดศูนย์สนใจ มีสื่อการสอนในรูปของชุดการสอน หรือเครื่องช่วยสอนต่าง ๆ ไว้ให้นักเรียนศึกษาด้วยตนเอง หรือศึกษาร่วมกับเพื่อน มีการตกแต่งผนังห้องและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเรื่องที่นักเรียนกำลังเรียน
               2.2 บทบาทของครูและนักเรียน การจัดชั้นเรียนแบบนี้ครูจะเป็นผู้กำกับและแนะแนวนักเรียนเป็นผู้แสดงบทบาท ครูจะพูดน้อยลง ให้นักเรียนได้คิด ได้ถาม ได้แก้ปัญหา และได้ทำกิจกรรมด้วยตนเอง นักเรียนอาจจะเรียนด้วยตนเองจากสื่อประสม เช่น บทเรียนแบบโปรแกรม ชุดการสอน คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครูจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ดังนั้น การจัดชั้นเรียนแบบนี้จึงเป็นการจัดชั้นเรียนที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรที่ต้องการให้ผู้เรียนได้คิดค้นคว้า วิเคราะห์วิจารณ์ และลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน จนสามารถเรียนรู้ได้ตนเอง


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


การปรับพฤติกรรม

          นักจิตวิทยาใช้คำว่า “พฤติกรรม” เป็นสื่อระบุถึงการกระทำอันเนื่องมาจากการกระตุ้น หรือถูกจูงใจจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ซึ่งเมื่อศึกษาให้ละเอียดแล้ว การกระทำหรือพฤติกรรมที่เราได้เห็นหรือได้สัมผัสรับรู้นั้น ส่วนหนึ่งของการกระทำ เป็นการกลั่นกรอง ตกแต่งและตั้งใจที่จะทำ ให้เกิดขึ้น มีพฤติกรรมอยู่มากทีเดียวที่แม้จะทำด้วยสาเหตุหรือจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทีกริยาอาจจะแตกต่างกันไป เมื่อเปลี่ยนบุคคล เปลี่ยนเวลา หรือเปลี่ยนสถานที่และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะการกระทำ ในแต่ละครั้งแต่ละครา (เมื่ออยู่ในสภาพร่างกายที่เป็นปกติ) จะต้องผ่านกระบวนการคิดและการตัดสินใจ อันประกอบด้วยอารมณ์และความรู้สึกของผู้กระทำ พฤติกรรมนั้น ๆ จึงทำ ให้พฤติกรรมของแต่ละคนและพฤติกรรมแต่ละคราวเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนไปตามเรื่องที่เกี่ยวข้องเสมอ (สุรพล พะยอมแย้ม, 2545)

พฤติกรรมส่วนบุคคล (Individual Behavior)
      จากการศึกษาของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมได้อธิบายว่า พฤติกรรมส่วนบุคคลเกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ (สุรางค์โค้วตระกูล, 2553)
          1. เชาวน์ปัญญา ความสามารถพิเศษ ความถนัดและความสนใจ บุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาดีย่อมมีพฤติกรรมต่างจากบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาต่ำ บุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาดีจะชอบค้นคว้าหาความรู้ชอบศึกษาวิจัย ชอบอ่านหนังสือ ส่วนบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาต่ำมักชอบกิจกรรมที่ใช้แรงงาน เช่น ทำ ไร่ทำสวน ชกต่อย เป็นต้น
           2. เพศและขนาดของร่างกาย เพศต่างกันทำ ให้มีพฤติกรรมต่างกัน เช่น หญิง มีกิริยาวาจาอ่อนหวาน นุ่มนวล ส่วนชายจะหยาบกระด้างกว่าขนาดของร่างกาย รูปร่างหน้าตา ก็มีส่วนทำ ให้พฤติกรรมแตกต่างกันผู้มีรูปร่างหน้าตาดีก็จะชอบออกสังคม ปรากฏตัวต่อหน้าชุมชน ส่วนผู้มีปมด้อยเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา เช่น อ้วน เตี้ย จะเก็บตัวไม่ค่อยกล้าแสดงออก เป็นต้น
          3. สภาพเศรษฐกิจ สังคมและสภาพสิ่งแวดล้อมบุคคลที่มีฐานะเศรษฐกิจดีมีฐานะร่ำรวย จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและพฤติกรรมจะแตกต่างจากบุคคลที่มีฐานะด้อยกว่า และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีเป็นต้น
          4. วัฒนธรรมประเพณีศาสนาและการใช้ภาษาของแต่ละท้องถิ่นสิ่งเหล่านี้ทำ ให้บุคคลมีพฤติกรรมแตกต่างกันอย่างหลากหลาย การดำ เนินชีวิต การพูด การรับประทานอาหาร การแสดงออกเกือบทุกด้านจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมประเพณีศาสนา และการใช้ภาษาของแต่ละท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น เช่น คนภาคเหนือกับคนภาคใต้คนตะวันตกกับคนตะวันออก จะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น
          5. สภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่น สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม โดยเฉพาะนิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิดของบุคคล เช่น ผู้อยู่ในอากาศร้อน จะมีความเฉื่อยชา เบื่อหน่าย ไม่ค่อยกระตือรือร้น เท่ากับผู้อยู่ในอากาศหนาว หรือผู้อยู่ในเมืองหลวง จะมีพฤติกรรมที่คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง
          6. อาชีพ อาชีพที่ต่างกัน มีอิทธิพลให้พฤติกรรมแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะ บทบาท สถานภาพ และกาลเทศะของบุคคล เช่น อาชีพนักธุรกิจกับครูสอนหนังสือ เกษตรกรกับคนงานในโรงงาน ล้วนแต่มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน เป็นต้น

สิ่งที่กำหนดพฤติกรรม (Determinant of behavior)
          ในทางจิตวิทยาสรุปสิ่งที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมบุคคลไว้ประการ คือ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งศัพท์ภาษาอังกฤษในทางจิตวิทยาอาจใช้คำแตกต่างกัน (สุรพล พะยอมแย้ม, 2545)
              1. Heredity and Environment
              2. Nature and Nurture
              3. Genetics and Environment
          สิ่งที่เป็นกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมนี้เป็นเรื่องที่เราแต่ละคนไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามใจที่เราต้องการได้ถึงแม้ว่าเราอาจเลือกสิ่งแวดล้อมได้บ้างในบางครั้ง หรือจัดการควบคุมทางพันธุกรรมในบางประการ แต่ทั้งสิ่งแวดล้อมที่เราเลือกหรือพันธุกรรมที่เรากำหนดนั้น ไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมดและตลอดเวลาหรือเสมอไป โดยเฉพาะการกำหนดพันธุกรรมให้กับตนเอง ดังนั้น สิ่งที่กำหนดพฤติกรรมบุคคลใช้หลักการ 3 ประการต่อไปนี้คือ
              1. พฤติกรรมบุคคลมีผลมาจากองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
              2. พันธุกรรมจะเป็นตัวกำหนดลักษณะหรือคุณสมบัติทางร่างกาย และส่งผลต่อเนื่องถึงการกระทำ ในระยะต่อมาในหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายทิศทาง
               3. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมของบุคคล สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญมากกว่าสิ่งอื่น ๆ (สุรพล พะยอมแย้ม, 2545)

กระบวนการเกิดพฤติกรรม
          เมื่อบุคคลกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา การแสดงออกเช่นนั้นได้ ย่อมต้องอาศัยขั้นตอนของการเกิดอย่างเป็นกระบวนการมาก่อนทั้งสิ้น และในกระบวนการเกิดพฤติกรรมทั้งหมดนี้ เราอาจแยกออกเป็นกระบวนการย่อยได้อีกอย่างน้อย 3 กระบวนการ คือ (สุรางค์โค้วตระกูล, 2553)
                1. กระบวนการรับรู้ (perception process)
          กระบวนการรับรู้เป็นกระบวนการเบื้องต้นที่เริ่มจากการที่บุคคลได้รับสัมผัสหรือรับข่าวสารสัมผัสจากสิ่งเร้าต่าง ๆ โดยผ่านระบบประสาทสัมผัส ซึ่งรวมถึงการที่รู้สึก (sensation) กับสิ่งเร้าที่รับสัมผัส นั้น ๆ ด้วย
                2. กระบวนการคิดและเข้าใจ (cognition process)
          กระบวนการนี้อาจเรียกได้ว่า กระบวนการทางปัญญา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ประกอบไปด้วยการเรียนรู้การคิด และการจำ ตลอดจนการนำ ไปใช้หรือเกิดพัฒนาการจากการเรียนรู้นั้น ๆ ด้วยการรับสัมผัส การรู้สึก ที่นำมาสู่การคิดและเข้าใจนี้เป็นระบบการทำ งานที่มีความละเอียดซับซ้อนมาก และเป็นกระบวนการภายในทางจิตใจ
                3. กระบวนการแสดงออก (spatial behavior process)
          หลังจากผ่านขั้นตอนของการรับรู้และการคิดและเข้าใจแล้ว บุคคลจะมีอารมณ์ตอบสนองต่อสิ่งที่ได้รับรู้นั้น ๆ แต่ยังมิได้แสดงออกให้ผู้อื่นได้รับรู้ยังคงเป็นพฤติกรรมที่อยู่ภายใน (covert behavior) แต่เมื่อได้คิดและเลือกที่จะแสดงการตอบสนองให้บุคคลอื่นสังเกตได้ เราจะเรียกว่าพฤติกรรมภายนอก (overt behavior) ซึ่งพฤติกรรมภายนอกนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่มีอยู่ทั้งหมดภายในตัวบุคคลนั้น เมื่อมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดสิ่งเร้าหนึ่ง การแสดงออกมาเพียงบางส่วนของที่มีอยู่จริงเช่นนี้จึงเรียกว่า (spatial behavior) โดยแท้ที่จริงแล้ว กระบวนการย่อยทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ไม่สามารถแยกเป็นขั้นตอนต่างหากหรือเป็นอิสระจากกัน เพราะการเกิดพฤติกรรมในแต่ละครั้งนั้น จะมีความต่อเนื่องสัมพันธ์กันอย่างมาก
  
การปรับพฤติกรรมในห้องเรียน
          ในสภาพการณ์จัดการเรียนการสอน การปรับพฤติกรรม ครูมีอิทธิพลในการแก้ไขพฤติกรรมมากโดยเฉพาะการให้แรงเสริม ทั้งการให้แรงเสริมบวก และวิธีการอื่น ๆ แม้แต่การลงโทษสถานเบา และการให้แรงเสริมทางสังคม แฮริ่งและฟิลลิปส์(Haring & Phillips,1972) กล่าวว่า ครูสามารถให้แรงเสริมในห้องเรียนได้ด้วยการให้ความสนใจและให้คำชมเชย ซึ่งเป็นแรงเสริมที่มีประสิทธิภาพมาก ประการสำคัญแรงเสริมทางสังคมเป็นแรงเสริมที่นำมาใช้ได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว
          ออลท์แมน และลินตัว (Altman and Linton) ได้ให้เหตุผล 3 ประการว่า ครูเหมาะสมสำหรับเป็นผู้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กเพราะ (สมพร สุทัศนีย์. 2544)
              1. สภาพห้องเรียนเป็นที่ที่เรามองเห็นได้ทั้งพฤติกรรมทางสังคมและพฤติกรรมทางวิชาการ
             2. ในสภาพการเรียนเด็กต้องตั้งใจฟังครูอยู่แล้ว
              3. ในหลักสูตร มีเนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขพฤติกรรมของเด็ก นอกจากนี้ในบรรยากาศของห้องเรียนนั้นสามารถปรับพฤติกรรมของเด็กได้หลายอย่างและสามารถทำ ได้รวดเร็ว ทันการ
แนวทางใน การปรับพฤติกรรม ในห้องเรียน
          สำหรับการแก้ไขพฤติกรรมในห้องเรียนที่เรียกว่า “การปรับพฤติกรรม” สามารถกระทำ ได้แนวทาง คือ (สมพร สุทัศนีย์. 2544)
              1. การจัดบรรยากาศในการเรียนการสอน
              2. ใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรม
แนวทางที่ 1
          การจัดบรรยากาศในการเรียนการสอน เป็นการเน้นแนวคิดของมนุษยนิยมที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการโดยเฉพาะความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ซึ่งได้แก่
              1) ความต้องการทางด้านร่างกาย
              2) ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย
              3) ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ
              4) ความต้องการเกียรติและการยอมรับ
              5) ความต้องการตระหนักในตน
          เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ความมั่นคงปลอดภัย ขาดความรัก ความอบอุ่นและการยอมรับให้เด็กได้รับในสิ่งที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ให้เด็กรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นสถานที่น่าอยู่น่าเล่าเรียน ดังนั้นการจัดบรรยากาศในการเรียนการสอน มีดังนี้
              1.ควรสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่ช่วยให้นักเรียนมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของห้องหรือเป็นสมาชิกคนหนึ่งของห้องเรียน และมีแรงจูงใจภายในที่จะเรียนรู้ บรรยากาศในห้องเรียนไม่ร้อนอบอ้าว ห้องเรียนควรโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวกหรือมีพัดลมระบายอากาศ จัดโต๊ะ เก้าอี้ให้เด็กนั่งสบาย ๆ เหมาะกับวัยและรูปร่างของเด็ก ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กผ่อนคลายความตึงเครียดบ้างหลังจากนั่งเรียนมาเป็นเวลานานพอสมควร โดยอนุญาตให้ออกไปล้างหน้า หรือทำตัวให้สบายที่สุด
              2. คำนึงถึงสภาพร่างกายว่าเด็กได้รับอาหารเพียงพอแล้วหรือยัง ควรจัดอาหารกลางวันเด็กที่ขัดสน จัดหาน้ำดื่มไว้ให้เพียงพอ จัดหาของว่างให้เด็กได้รับประทานในเวลาบ่าย หรือให้มีเวลาพักตอนบ่ายสัก 10-15 นาทีเพื่อให้เด็กออกไปหาอาหารรับประทาน นอกจากนี้ครูควรสำรวจว่าเด็กคนใดเจ็บป่วยบ้าง ถ้ามีเด็กเจ็บป่วยควรให้พักผ่อน รับประทานยาให้ร่างกายพร้อมที่จะเรียนได้
              3. ทำ ให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น โต๊ะเรียน ม้านั่งควรอยู่ในสภาพที่แข็งแรงทนทาน อาคารเรียนก็ต้องมั่นคงแข็งแรง สามารถต้านทานลมพายุได้เพดานห้องเรียนไม่เก่า ผุ จนเกิดความน่ากลัว อุปกรณ์เครื่องใช้ในห้องเรียน เช่น พัดลมที่ติดอยู่บนเพดานอยู่ในสภาพแข็งแรง เครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในสภาพดีปลอดภัย นอกจากนี้ครูควรจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมความมั่นคง ปลอดภัย
              4. จัดประสบการณ์การเรียนที่ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จ เมื่อเด็กประสบความสำเร็จจะรู้สึกภาคภูมิใจและมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง (self – concept)ไปในทางที่ดีวิธีที่จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จ
              5. ครูควรแสดงการยอมรับเด็กไม่ว่าเด็กจะอยู่ในสภาพใด เช่น ถ้าเป็นเด็กที่เรียนอ่อน มีปมด้อย ครูก็ควรแสดงให้เห็นว่าครูยอมรับในสภาพที่เด็กเป็นอยู่และเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถด้านอื่น ๆ เป็นการชดเชยเพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกว่าตนก็เป็นคนมีคุณค่า
              6. การเปิดโอกาสให้เด็กได้รับการยอมรับอีกวิธีหนึ่งคือ การให้ทำงานเป็นกลุ่ม จากการศึกษาและวิจัยพบว่าการทำ งานเป็นกลุ่มมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำ งานคนเดียว เพราะคนต้องการมีความสัมพันธ์กับคนในกลุ่ม ต้องการปรึกษาหารือ ดังนั้น การทำ งานเป็นกลุ่มย่อมทำ ให้เด็กได้รับการยอมรับและได้รับความสำคัญ แม้ว่าบางครั้งการทำ งานเป็นกลุ่มจะทำ ให้คนทำตามกลุ่มและสูญเสียอิสรภาพ ความเป็นตัวของตัวเองไปบ้างก็ไม่เป็นไร (สุรางค์โค้วตระกูล, 2553)

แนวทางที่ 2
เทคนิคการปรับพฤติกรรม เป็นวิธีการปรับพฤติกรรมที่อยู่บนพื้นฐานการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
              1. การให้แรงเสริม การให้แรงเสริมเป็นวิธีการของการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขการกระทำของสกินเนอร์ เป็นวิธีการที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อมูลยืนยันการใช้แรงเสริมในหลายรูปแบบเช่นการให้แรงเสริมที่เป็นสิ่งของที่จับต้องได้กินได้แรงเสริมทางสังคมที่เป็นคำชมเชย การให้ความสนใจ แรงเสริมที่เป็นกิจกรรมที่เด็กชอบมากกว่ากิจกรรมการเรียน แรงเสริมที่แลกเปลี่ยน ฯลฯ มีงานวิจัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ยืนยันว่าแรงเสริมประสิทธิภาพแก้ไขพฤติกรรมการเรียน พฤติกรรมทางสังคมและอื่น ๆ เช่น งานวิจัยของ พิมพ์วิสาข์ติ่งเคลือบ (2555) ผลการวิจยัพบว่า เมื่อใช้วิธีการเสริมแรงทางบวก (การเพิ่มคะแนน) จะกระตุ้นให้นักศึกษาเล่นอินเตอร์เน็ตระหว่างเรียนลดลงน้อยกว่า การใชวิธีการเสริมแรงทางลบ(การหักคะแนน) โดยเมื่อได้รับการเสริมแรงทางบวกจะทำ ให้มีความสนใจเรียนมากขึ้นและเมื่อนักศึกษาเข้าใจเนื้อหาและสามารถทำแบบฝึกหัดไดจะส่งผลต่อคะแนนของนักศึกษาสูงขึ้นอีกด้วย และงานวิจัยของวันดี จูเปี่ยม(2554)ผลการศึกษาพบว่านักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่3/5มีพฤติกรรมความรับผิดชอบในการทำ งานที่ได้รับมอบหมายในรายวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้นหลังการใช้แรงเสริมทางบวกด้วยเบี้ยอรรถกรและมีพฤติกรรมความรับผิดชอบในการทำ งานที่ได้รับมอบหมายสูงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
              2. การฝึกพฤติกรรมแสดงออกที่เหมาะสม (Assertive behavior) เป็นเทคนิคการปรับพฤติกรรมที่ใช้ในการแก้ไขความกลัวและความวิตกกังวล โดยจะใช้วิธีการและขั้นตอนในการฝึกพฤติกรรมการแสดงออกอย่างเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วยการฝึกทักษะทางสังคม (Social Skills) และการใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การให้คำแนะนำ (Coaching Instruction) การแสดงตัวอย่าง (Modeling)การซ้อมบทบาทของพฤติกรรม(Behavior rehearsal)การให้แรงเสริมทางบวก(Positive reinforcement) การแสดงบทบาทสมมติ(Role-playing) และการให้การบ้าน (Home assignment) เพื่อให้เกิดการแสดงออกตามความรู้สึกนึกคิด และความต้องการที่แท้จริงของแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรมชาติ ด้วยความมั่นใจอย่างตรงไปตรงมา ตามสิทธิของแต่ละบุคคลอื่นด้วย ในการวิจัยครั้งนี้พฤติกรรมการแสดงออกอย่างเหมาะสมวัดด้วยคะแนนจากแบบวัดพฤติกรรม การแสดงออกอย่างเหมาะสม (ตรรกพร สุขเกษม, 2554)
              3. การเตือนตนเอง (Self – monitioring) เป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่ให้บุคคลหรือเด็กที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาสังเกตและรายงานพฤติกรรมของตนเองว่าเกิดขึ้นเวลาใด ในสถานการณ์ใดมากที่สุด แล้วรายงานต่อผู้ที่จะแก้ปัญหาหรือรายงานให้ครูทราบ เพื่อจะได้ดำ เนินการแก้ไขพฤติกรรมต่อไป วิธีนี้เป็นวิธีควบคุมตนเองจากทั้งภายนอกและภายใน นั่นคือ การสังเกตและจดบันทึกพฤติกรรมตนเอง นับเป็นวิธีควบคุมจากภายใน แต่การที่ครูหรือบุคคลภายนอกให้แรงเสริมเป็นวิธีควบคุมจากภายนอก
              4. การเสนอตัวแบบ (Modeling Procedure) การเสนอตัวแบบเป็นเทคนิคที่พัฒนามาจากงานของแบนดูร่าในช่วงปีค.ศ. 1969 คือ การเสนอตัวแบบในโรงเรียน การเสนอตัวแบบเป็นเทคนิคที่สามารถใช้ปรับพฤติกรรมทางอารมณ์ทางสังคม หรือทักษะทางกาย ซึ่งนับว่าเป็นเทคนิคที่ใช้ได้อย่างกว้างขวางและเป็นธรรมชาติซึ่งแบนดูร่า (Bandura, 1969) กล่าวว่าตัวแบบนั้นให้ประโยชน์ด้านคือ ช่วยให้บุคคลเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ช่วยให้พฤติกรรมที่เรียนรู้มาแล้วได้มีโอกาสแสดงออก และมีผลให้เกิดการระงับพฤติกรรมบางอย่าง การเสนอตัวแบบทำ ให้เด็กเกิดการสังเกตและทำตามแบบอย่าง เช่น สังเกตตัวแบบจริง ตัวแบบจากภาพยนตร์จากรูปภาพ ฯลฯ การเสนอตัวแบบจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กมาก ดังตัวอย่างการศึกษาของรอสและคณะ (Ross, et.al., 1971) ซึ่งให้เด็กที่แยกตัวออกจากสังคมดูตัวแบบจากรูปภาพการเล่าเรื่อง ภาพยนตร์ และตัวแบบคนจริงซึ่งแสดงการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นให้เด็กดูและให้แรงเสริมเมื่อเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สอดคล้องกับการศึกษาของ ศิริพันธุ์ ศิริพันธุ์และ บุญยิ่ง ทองคุปต์(2550) ที่ศึกษาเรื่อง ผลสัมฤทธิ์ของการสอนด้วยวิธีการพี่สอนน้อง ของนักศึกษาต่อการฝึกการทำคลอดปกติ และทำคลอดรกและการรับรู้ความสามารถของตนในการทำคลอดปกติและ การทำคลอด ใน นักศึกษาพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ชั้นปีที่ 3 หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จำนวน 59 คน ที่กำลังศึกษาภาคการศึกษาปีที่1ปีการศึกษา 2550ซึ่งได้รับการสอนทักษะการทำคลอดปกติและการทำคลอดรกจากนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 4 ที่อาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย จำนวน 30 คน ในห้องปฏิบัติการพยาบาล โดยใช้แนวคิดของ Bandura (1969) คือให้นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นรุ่นน้องได้สังเกต และทำตามแบบอย่างนักศึกษารุ่นพี่ ซึ่งเป็นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า นักศึกษาสามารถฝึกทักษะการทำคลอด ได้สมบูรณ์และมีทักษะการทำคลอดรก แบบ Controlled Cord Traction ได้สมบูรณ์ขึ้น
               5. การชี้แนะ (Prompts) เป็นการให้สิ่งเร้ากระตุ้นให้เด็กแสดงพฤติกรรมตามที่ต้องการ การชี้แนะมักนิยมใช้ร่วมกับการให้แรงเสริม การชี้แนะอาจจะเป็นคำ พูด กิริยาท่าทางหรือสื่อต่าง ๆ เครื่องชี้แนะอาจจะช่วยปรับพฤติกรรมทางการเรียน หรือพฤติกรรมทางสังคม ถ้าเป็นเด็กที่มีปัญหาทางการเรียน แก้ได้โดยตรงด้วยการอาศัยเครื่องชี้แนะ ได้แก่ “บทเรียนแบบโปรแกรม” หรือสื่ออย่างอื่น สำหรับเครื่องชี้แนะในการปรับพฤติกรรมอื่น ๆ มีหลายวิธีเช่น การพูดกระตุ้น การใช้กิริยาท่าทาง
              6. การลงโทษ เป็นการให้สิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจ (aversive stimulus) หลังจากการตอบสนองอันใดอันหนึ่ง ซึ่งทำ ให้โอกาสที่จะแสดงออกแล้วควบคุมด้วยสิ่งเร้าที่ไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมพฤติกรรมที่ก่อีให้เกิดผลเสียเพราะเป็นการให้สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจหลังจากพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้น การลงโทษมักจะเป็นวิธีที่ใช้กับเด็กที่ปรับตัวไม่ได้อย่างรุนแรง เช่น ก้าวร้าว ต่อสู้ทุบตีเป็นต้น การลงโทษอาจจะเป็นการทำให้เจ็บกาย เช่น ตีและเจ็บปวดทางใจ เช่น ตำหนิเยาะเย้ย นอกจากนี้ยังมีการช็อตด้วยไฟฟ้าเสียงรบกวน เป็นต้น
              7. การควบคุมตนเอง วิธีการควบคุมตนเองที่ใช้ในห้องเรียนนั้นจะกระทำตามขั้นตอนที่กล่าวไว้แล้ว คือ
                     1) การกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายด้วยตนเอง
                     2) กำหนดเงื่อนไขแรงเสริมหรือการลงโทษด้วยตนเอง
                      3) การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมด้วยตนเอง
                      4) การประเมินตนเอง
                     5) ให้แรงเสริมหรือลงโทษตนเอง
              8. การฝึกสอนตนเอง (Self-instructional Training) เป็นเทคนิคได้พัฒนามาจากแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์ และงานของนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ที่ศึกษาถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ความคิด และพฤติกรรมและได้เสนอว่า การควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้นเริ่มจากบุคคลที่มีความสำคัญต่อเขาโดยเริ่มจากการควบคุมด้วยคำ พูดหรือภาษา ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมพัฒนาไปสู่การควบคุมตนเองโดยการที่เด็กใช้คำ พูด
ภายนอก (พูดเสียงดัง) ต่อมาจึงพูดจากภายในใจตนเอง เขาจึงได้พัฒนาโปรแกรมการสอนตนเองขึ้นสอนเด็กที่มีลักษณะหุนหันพลันแล่น (Impulsive) โดยเริ่มให้เด็กดูตัวแบบว่าเขาจะทำอะไรแล้วให้เด็กพูดตามด้วยเสียงดัง จากนั้นค่อย ๆ พูดให้เบาลง จนในที่สุดพูดกับตัวเองภายในใจซึ่งพบว่าได้ผลดี(Meichenbaum and Goodman1971อ้างถึงในสมโภชน์เอี่ยมสุภาษิต, 2550)
              9. วิธีพฤติกรรมบำบัด เป็นวิธีการที่มีคนนิยมใช้กันมากในคลินิกโดยอาศัยหลักการเรียนรู้ในห้องทดลองมาใช้บำบัดคนเป็นโรคจิต โรคประสาทเพราะเชื่อว่า อาการของโรคจิต โรคประสาทนั้นเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ที่ไม่สมเหตุสมผลและขาดการปรับตัวที่ดีจึงทำ ให้คนไข้แสดงพฤติกรรมออกมาในลักษณะที่ผิดปกติธรรมดา

ขั้นตอนในการปรับพฤติกรรม
          การปรับพฤติกรรม เป็นการปรับที่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีการเรียนรู้ที่มีระบบ มิใช่เกิดขึ้นตามแต่จะเป็นไปหรืออารมณ์ของบุคคลรอบข้าง แต่เมื่อกล่าวถึงการปรับพฤติกรรมหลายคนมักจะกล่าวว่า ก็ได้ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ผล ดังนั้นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ การปรับพฤติกรรม ดังต่อไปนี้จากลักษณะของการปรับพฤติกรรม (สมพร สุทัศนีย์, 2544)
ลักษณะของการปรับพฤติกรรม
          1. เน้นการแก้ไขพฤติกรรมหรือกิริยาอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น พูดเสียงดัง เดิน ตะโกน เป็นต้น พฤติกรรมดังกล่าวสามารถมองเห็นได้ตรงกัน วัดได้เป็นรูปธรรม
          2. ไม่ใช้คำที่ประณามหรือตีตรา เช่น คำ ว่า ซน ก้าวร้าว ดื้อ ชอบขโมย โกหก เป็นต้น เพราะเป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะของการประเมิน มีความหมายกว้างและซับซ้อน มีหลายพฤติกรรมรวม ๆ กัน ยากแก่การสังเกตหรือสังเกตเห็นได้แต่ต่างคนต่างก็เข้าใจไม่ตรงกัน ทำ ให้ยากแก่การจัดโปรแกรมการปรับหรือแก้ไขพฤติกรรม
          3. พฤติกรรมต่าง ๆ เกิดจากการเรียนรู้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็เกิดจากการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสม ฉะนั้น พฤติกรรมย่อมเปลี่ยนแปลงได้โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมหรือการจัดสภาพแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสม
          4. การปรับพฤติกรรมเน้นสภาพการณ์ในปัจจุบันเท่านั้น แม้ว่าพฤติกรรมนั้นเกิดจากการเรียนรู้ในอดีต แต่เงื่อนไขสิ่งเร้าและผลกรรมในสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นตัวกำหนดว่าพฤติกรรมนั้นมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือมีแนวโน้มที่จะลดลง ถ้าสามารถรู้ว่าสิ่งเร้าหรือผลกรรมใดทำ ให้พฤติกรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือลดลงก็สามารถจัดสภาพการณ์สิ่งเร้าและผลกรรมนั้นได้เหมาะสม เพื่อให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปตามเป้าหมาย
          5. การปรับพฤติกรรมเน้นการเพิ่มพฤติกรรมที่พึงประสงค์โดยการให้สิ่งที่เด็กพอใจหลังจากเด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้น มากกว่าการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยการให้สิ่งเร้าที่เด็กไม่พอใจหลังการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า เน้นวิธีการทางบวกมากกว่าการลงโทษ
          6. วิธีการปรับพฤติกรรมแต่ละวิธีนั้นจะใช้ได้เหมาะสมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัญหาแต่ละปัญหา เนื่องจากเด็กแต่ละคนย่อมมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน การปรับพฤติกรรมจึงต้องตระหนักในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย
          7. วิธีการปรับพฤติกรรมเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มีระบบและขั้นตอนที่ได้รับการทดสอบแล้วว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ขั้นตอนการปรับพฤติกรรมที่นำมาใช้ในชั้นเรียน
         
          เมื่อครูเข้าใจลักษณะของการปรับพฤติกรรม ครูก็สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนการปรับพฤติกรรมดังนี้ (สุรางค์ โค้วตระกูล, 2553)
               1. เลือกพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข หรือเลือกพฤติกรรมเป้าหมายก่อนที่จะจัดรายการการใช้เทคนิคในการแก้ไขพฤติกรรม หรือที่เรียกว่า “การปรับพฤติกรรม” (behavior modification) นั้น เราต้องสำรวจดูว่าพฤติกรรมอะไรบ้างที่ต้องแก้ไขพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไขเรียกว่า “พฤติกรรมเป้าหมาย” (target behavior)พฤติกรรมเป้าหมายดังกล่าวคือ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั่นเอง
                  2. วิเคราะห์พฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข หมายถึง การจำแนกพฤติกรรมออกเป็นพฤติกรรมย่อย ที่บ่งบอกพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไขเป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ชัด และมีปริมาณหรือจำนวนบ่งบอกไว้
              3. เลือกตัวแรงเสริมในการแก้ไขพฤติกรรม เมื่อทราบพฤติกรรมเป้าหมาย และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมเป้าหมายแล้ว ขั้นต่อไปคือการเลือกตัวแรงเสริม แรงเสริมที่ต้องเลือกคือ “ตัวแรงเสริมบวก” ซึ่งมีมากมายดังกล่าวแล้วข้างต้น เหตุที่ต้องเลือกเพราะต้องการให้แรงเสริมนั้นเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน
              4. เลือกเทคนิคต่าง ๆ ในการปรับพฤติกรรม เทคนิคและวิธีการในการแก้ไขพฤติกรรมนั้นต้องเลือกให้เหมาะกับพฤติกรรมและทิศทางที่ต้องการ เช่น ต้องการลดพฤติกรรมหรือต้องการเพิ่มพฤติกรรม เทคนิคที่นำมาใช้ในสถานการณ์จริงของห้องเรียน อาจจะใช้ในรูปของกิจกรรมง่าย ๆ ที่เป็นเทคนิคการให้แรงเสริมบวก
              5. วัดพฤติกรรม หมายถึง การนับความถี่ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมหรือบันทึกระยะเวลาที่เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ
              6. ปฏิบัติตามขั้นตอนในการแก้ไข หรือปรับพฤติกรรมในชั้นเรียน เมื่อครูทราบขั้นตอนในการแก้ไขและปรับพฤติกรรมแล้ว ก็สามารถดำ เนินการตามขั้นตอนได้
              7. ประเมินผลการปรับพฤติกรรม เมื่อครูทำการวัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในช่วงก่อนการให้แรงเสริมและช่วงของการให้แรงเสริมช่วงเวลาละ 30 นาทีแล้ว นำความถี่ของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นมาเปรียบเทียบกัน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงว่า พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดลงไปมากน้อยเพียงใดเป็นการประเมินว่า โปรแกรมการให้แรงเสริมได้ผลหรือไม่มากน้อยเพียงใดและเพื่อเป็นการยืนยันว่า โปรแกรมการให้แรงเสริมเชื่อถือได้
              8. ติดตามผล เป็นการติดตามผลหลังจากโปรแกรมการแก้ไขพฤติกรรมสิ้นสุดลง เมื่อโปรแกรมการแก้ไขพฤติกรรมสิ้นสุดลงควรมีการตรวจสอบดูว่า พฤติกรรมที่ได้รับแรงเสริมนั้นคงที่ หรือกลับสู่สภาพเดิมหรือไม่ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลหรือหลักฐานในการยืนยันว่าแรงเสริมชนิดนี้ใช้ได้ผลและเพื่อเป็นข้อมูลเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมการปรับพฤติกรรมในครั้งต่อ ๆ ไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น